Manager
แม้ออทิสติก จะเป็นโรคที่ยังไม่สามารถหาสาเหตุของการเกิดได้อย่างชัดเจน
แต่ปัจจุบันก็มีหลายหน่วยงานทำการค้นคว้าวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เข้าใจถึงการเกิดของโรค รวมถึงแนวทางป้องกันที่เหมาะสม
ล่าสุด วารสาร Scientific Reports ได้รายงานการวิจัยของญี่ปุ่นเกี่ยวกับการวัดระดับธาตุสังกะสีในผมของเด็กออทิสติกจำนวน 2,000 คน
และชี้ว่า การขาดแร่ธาตุเช่น "สังกะสี" อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคดังกล่าว
โดยในภาพรวม เด็กเล็ก 1 ใน 3 ของการวิจัยนี้ขาดธาตุสังกะสี และหากพิจารณาตามเพศ
เด็กผู้ชายขาดธาตุสังกะสีราวครึ่งหนึ่งของเด็กผู้ชายที่เข้าร่วมการวิจัย ส่วนเด็กหญิงนั้นพบว่ามีการขาดธาตุสังกะสีมากเกินครึ่ง
ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนมีอายุต่ำกว่า 3 ปี
นอกจากนั้นทีมวิจัยยังพบกรณีหายากรายหนึ่ง เป็นเด็กหญิงอายุ 2 ขวบ ซึ่งได้ตรวจพบว่าร่างกายของเธอนั้น
มีธาตุสังกะสีเพียง 1 ใน 12 ของปริมาณที่กำหนดเลยทีเดียว
นักวิจัยกล่าวว่า ทารกนั้นมีความต้องการธาตุสังกะสีสำหรับการเจริญเติบโตและการพัฒนาอย่างมาก
และการขาดธาตุสังกะสีในช่วงต้นของชีวิตอาจจะเกี่ยวข้องกับการเกิดภาวะออทิสซึมได้
ซึ่งในการวิจัยนี้สรุปว่า การเยียวยาด้วยอาหารอาจเป็นอีกหนึ่งความหวังที่จะรักษาและสามารถป้องกันการเกิดภาวะดังกล่าวได้
แน่นอนว่า การวิจัยชิ้นนี้ยังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมในอนาคตอีกมาก เพื่อให้การยืนยันนั้นหนักแน่นและอ้างอิงได้มากกว่าที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกับความเห็นของ ศาสตราจารย์โดโรธี บิชอป ผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จากมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด ประเทศอังกฤษที่ออกมาบอกว่า การวิจัยเพิ่มเติมเท่านั้นที่จะช่วยให้สิ่งต่าง ๆ ชัดเจนมากขึ้น
"ถ้าการวิจัยในอนาคตชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การขาดธาตุสังกะสีนั้นคือต้นเหตุของภาวะออทิสซึม เราถึงจะยืนยันได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ เราก็ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าเด็กออทิสติกหลายคนก็มีพฤติกรรมชอบเคี้ยวสิ่งที่ไม่ใช่อาหาร หรือไม่สมควรจะรับประทาน"
"ดังนั้น มันเป็นเรื่องแย่พอ ๆ กันกับการได้รับธาตุสังกะสีน้อยไป กับคนที่ตื่นตกใจจนแห่ตุนผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะคนเหล่านั้นอาจได้รับธาตุสังกะสีมากจนเกินความต้องการของร่างกาย"
นอกจากนี้ อาหารที่ธาตุสังกะสีสูงนั้นก็มีอยู่รอบตัว ยกตัวอย่างเช่น หอยนางรม เมล็ดฟักทอง เมล็ดแตงโม งา ถั่ว ผัดกาด กล้วยหอม อะโวคาโด ลูกเกด ฯลฯ (อ้างอิงจาก
www.healthaliciousness.com) ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่อย่าพึ่งตื่นตกใจ และรอฟังผลจากการวิจัยอื่น ๆ เพิ่มเติมร่วมด้วยจะดีกว่าค่ะ