นิตยสาร Kidscovery for Parents ฉบับเดือนกรกฎาคม
ตีความฉลาดให้แตก (ฉาน)
การจะบอกว่า เด็กคนนั้นฉลาดกว่าเด็กคนนี้เพียงเพราะเขามีคะแนนสอบดีกว่าเพื่อนยังไม่พอ เพราะหากนึกดี ๆ แล้ว หากลูกสอบได้ที่ 1
เรียนเก่งเหนือใครแต่กลับไม่มีเพื่อน ไม่รู้วิธีเข้าสังคม หรือแม้แต่ไม่รู้จะเล่นกับเพื่อนอย่างไร นั่นคุณคิดว่าลูกคุณฉลาดพอแล้วหรือ
ศาสตราจารย์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เชื่อว่าความฉลาดของบุคคลมีหลายด้านและทุกด้านก็มีความสำคัญ
เท่าเทียมกัน ขึ้นอยู่กับว่าใครเด่นด้านไหน ซึ่งความสามารถนี้เป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล สรุปง่าย ๆ ก็คือ
- ถ้าลูกวัยอนุบาลไม่เก่งคณิต แต่เก่งศิลปะ นั่นก็บอกได้ว่าเขามีความฉลาดเฉพาะตนอยู่
- หากลูกวัยประถมไม่เก่งทั้งคณิต ภาษา แต่มีมนุษยสัมพันธ์ดีกับคนรอบข้าง ก็เรียกได้ว่านั่นคือความฉลาดอีกทางหนึ่ง
กล่าวโดยสรุปคือ มนุษย์มีปัญญาหลายด้าน ดังนั้นคำว่าฉลาดจึงตีความได้ว่า เป็นความสามารถหลายด้านรวมกัน
จนเกิดเป็นความสามารถเฉพาะตัวของเด็ก ๆ ที่ทำให้เขาเรียนรู้และอยู่บนโลกนี้ได้อย่างมีความสุข
5 เทคนิคง่าย ๆ ที่ช่วยเสริมความฉลาดให้ลูก
1. เรื่องนอนเรื่องใหญ่
เด็กอนุบาลควรนอนวันละ 11 - 13 ชั่วโมงต่อวัน เด็กประถมควรนอนวันละ 11 ชั่วโมงต่อวัน การนอนที่เหมาะสมจะช่วยให้เด็ก ๆ มีสมาธิ
การเรียนรู้จดจำ (ขณะตื่น) มีประสิทธิภาพ ดังนั้นอยากให้ลูกฉลาด เรื่องนอนไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลย
2. อย่าลืมอาหารสมอง
ให้ลูกกินอาหารครบ 5 หมู่ และอาหารบำรุงสมองเป็นประจำช่วยการเรียนรู้ที่ดีได้
- เมนูไข่ อุดมไปด้วยสารอาหารที่ช่วยบำรุงสมองและจำเป็นต่อการสร้างเยื่อหุ้มเส้นใยประสาทด้วย
- เมนูปลา เนื้อปลาและน้ำมันปลามีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาความจำและการเรียนรู้ เสริมสร้าง "เดนไดร์"
ซึ่งทำหน้าที่เชื่อมโยงเรื่องเรียนรู้ จากเรื่องหนึ่งไปสู่เรื่องหนึ่งได้ดี
3. Exercise ช่วยฟิต (หลายเรื่อง)
วิจัยจากสหรัฐอเมริกาพบว่า สมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่ควบคุมความจำและการเรียนรู้ของเด็กที่ออกกำลังกายจะมีขนาดใหญ่กว่าเด็กที่ขาดการออกกำลังกายถึง 12 เปอร์เซ็นต์ อีกทั้งการออกกำลังกายยังช่วยสร้างความมั่นใจ ลดความตึงเครียด มีเพื่อน ฯลฯ
4. ไม่เปรียบเทียบ เรียนรู้ไม่สะดุด
ไม่เปรียบเทียบลูกกับคนอื่น เพราะนั่นเปรียบเหมือนการสร้างแรงกดดันในการเรียนรู้ให้กับลูก และทำให้ลูกรู้สึกว่าคุณกำลังจับผิดเขาอยู่ทุกฝีก้าว ดังนั้นไม่เปรียบเทียบและดูความถนัดของลูกว่าถนัดสิ่งไหนแล้วส่งเสริมสิ่งนั้นกับเขา ก็จะช่วยให้ความฉลาดที่มีอยู่ในตัวลูกไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่งปรากฏขึ้นอย่างแน่นอน
5. อย่าลืมว่ามีคนมอง
ทุกครั้งที่คุณแสดงพฤติกรรมใด ๆ ก็ตาม อย่าลืมว่าเด็ก ๆ เตรียมก๊อปปี้จากคุณอยู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล่น การปฏิบัติตัวทั้งเรื่องกิน เรื่องอยู่ เรื่องหาความรู้รอบตัว อยากให้ลูกเป็นแบบไหนแค่จำไว้ว่า "ทำดีให้ดู เพราะหนูมองพ่อแม่อยู่นะ"
การพัฒนาศักยภาพการเรียนรู้ของลูกให้ฉลาดรอบด้านนั้น จะเห็นได้ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หากแต่ผู้ใหญ่ต้องเปิดโอกาสให้ลูกพบปะประสบการณ์ใหม่ที่หลากหลาย อีกทั้งไม่มองที่คะแนนสอบเป็นตัวตั้ง แต่ให้ค้นหาความถนัดตามศักยภาพที่ลูกมีอยู่ เพียงเท่านี้คุณก็จะเห็นแววความฉลาดในแบบที่เป็นตัวตนของลูกได้แล้ว