โดย ผู้จัดการออนไลน์
"ควันธูป" สัญลักษณ์แห่งศรัทธา ที่อบอวลอยู่ในศาสนสถานมาช้านาน
มีสารเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งถึง 3 ชนิด โดยในสถานที่จุดธูป มีสารก่อมะเร็งสูงกว่าที่ไม่จุดถึง 63 เท่า
ระบุความรุนแรงของธูป 1 ดอกเทียบเท่าบุหรี่ 1 มวน
และหากจุดในบ้าน 3 ดอก โดยไม่ระบายอากาศ ก่อมลพิษเทียบเท่าสี่แยก
ที่มีการจราจรพลุกพล่าน พร้อมเสนอโครงการ "จุดแล้วรีบดับ"
นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าแผนกไอซียูโรงพยาบาลวิชัยยุทธ ได้เปิดเผยเรื่องดังกล่าวระหว่าง
การเสนอผลวิจัยเรื่อง "สารก่อมะเร็ง: ภัยเงียบที่มากับควันธูป" ซึ่งจัดขึ้นโดยศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย
เมื่อวันที่ 29 ก.ค.51 ณ อาคารสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (โยธี)
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมฟังการเสนองานวิจัยดังกล่าวด้วย
นายแพทย์มนูญเผยถึงวิจัยชิ้นนี้ ที่ร่วมกับ ดร.พนิดา นวสัมฤทธิ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์
โดยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงร่วมวิจัยด้วยว่า
ควันธูปมีสารก่อมะเร็งถึง 3 ชนิดคือ เบนซีน บิวทาไดอีน และเบนโซเอไพรีน ซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดมะเร็งปอดได้
ทั้งนี้ งานวิจัยได้ศึกษาในบริเวณที่มีการจุดธูป ในวัด 3 แห่งที่จังหวัดอยุธยา ฉะเชิงเทรา และสมุทรปราการ
โดยเมื่อตรวจเลือดและปัสสาวะ ของกลุ่มคนทำงานในวัด ที่ได้รับควันธูป และกลุ่มที่ไม่ได้รับควันธูป
พบกรดมิวโคนิค กรดโมโนไฮดรอกซี-บิวท์นิล เมอร์แคปทูลิค (Monohydroxyldroxyl-butenyl mercaptulic: MHBMA)
และไฮดรอกซีไพรีน ซึ่งเป็นสารที่บ่งชี้ว่าร่างกายได้รับสารก่อมะเร็งทั้ง 3 ในกลุ่มคนทำงานที่ได้รับควันธูป
เมื่อเปรียบเทียบสารเบนโซเอไพรีน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งที่มีศักยภาพก่อมะเร็งสูงสุด
ในสถานที่จุดธูปและไม่จุดธูป พบว่าในวัดที่จุดธูป มีสารดังกล่าวสูงกว่าสถานที่ไม่จุดธูปถึง 63 เท่า
"นอกจากนี้การติดตาม ดูการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมยังพบว่า สารพันธุกรรมในร่างกายของคนทำงาน
ที่ไม่ได้รับควันธูป มีการแตกหัก แต่สามารถซ่อมแซมได้ตามปกติ ขณะที่คนทำงานซึ่งได้รับควันธูปเป็นประจำนั้น
พบการแตกหักของสารพันธุกรรมเพิ่มขึ้น และมีการซ่อมแซมลดลง ซึ่งระยะเริ่มต้นของการเป็นมะเร็งคือ
การแตกหักของสารพันธุกรรมและไม่สามารถซ่อมแซมได้ จนสุดท้ายสารพันธุกรรมจะกลายเป็นเซลล์ใหม่
และมีการแบ่งตัวถาวรแล้วเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด" นพ.มนูญเผยข้อมูล
อย่างไรก็ดี นพ.มนูญกล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามีผู้ป่วยโรคมะเร็งเนื่องจากควันธูป
แต่มีหลักฐานจากงานวิจัยว่า ควันธูปมีสารชักนำให้เกิดโรคมะเร็ง
และงานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่าควันธูป 1 ดอกมีปริมาณสารก่อมะเร็ง ไม่ต่างจากบุหรี่ 1 มวนเลยทีเดียว
และหากจุดธูป 3 ดอกภายในบ้านที่ไม่เปิดให้อากาศระบายจะเทียบเท่ากับมลพิษทางอากาศในสี่แยก
ที่มีการจราจรพลุ่กพล่าน
"นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยโรคมะเร็งซึ่งไม่สูบบุหรี่และไม่ได้ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่
จึงน่าจะมีสาเหตุอื่นที่ก่อให้เกิดมะเร็งและคาดว่าคัวนธูปน่าจะเป็นสาเหตุหนึ่ง
แต่ระยะเวลาที่จะส่งผลให้เป็นมะเร็งนั้นต้องสั่งสมเป็นสิบๆ ปี เช่นเดียวกับการสูบบุหรี่
ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการสะสม" นายแพทย์มนูญกล่าว
ถึงแม้จะพบว่าควันธูปมีอันตราย แต่คงไม่ง่ายนักที่จะเลิกวัฒนธรรมการจุดธูป โดยนายแพทย์มนูญระบุว่า
การจุดธูปมีจุดเริ่มต้นจากอียิปต์ที่สักการะเทพเจ้าด้วยควันกลิ่นหอมและปัจจุบันกว่าครึ่งโลก
ก็ยังยึดถือวัฒนธรรมนี้อยู่ โดยเอาควันหอมเป็นเครื่องสักการะ และเครื่องมือสื่อสารกับสิ่งที่สักการะ
อีกทั้งเพื่อคำนึงผู้ประกอบการด้วย นายแพทย์มนูญจึงมีแนวคิดในการทำโครงการ "จุดแล้วรีบดับ"
โดยเสนอว่าผู้ที่จุดธูปอธิษฐานเมื่อขอพรเสร็จแล้ว ก็รีบดับด้วยวิธีจุ่มน้ำหรือทราย
ทั้งนี้คนที่จุดธูปจะได้มีส่วนช่วยในการรักษาสิ่งแวดล้อม และลดสารพิษ ในการก่อมะเร็งด้วย
"ตอนนี้ยังไม่ได้เริ่มโครงการ แต่จะเข้าไปพบพระ เพราะพระได้รับผลกระทบมาก
กะจะเข้าไปคุยที่วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษกก่อน" นายแพทย์มนูญเผย
ทั้งนี้ โครงการที่ริเริ่มไว้จะมีคำขวัญคือ "ดับควันธูป ลดคาร์บอน หย่อนควันพิษ ทอนฤทธิ์มะเร็ง"
และอนาคตจะขอให้ผู้ประกอบการผลิตธูปชนิดใหม่ ที่มีเนื้อบริเวณปลายธูปเท่านั้นเพื่อลดปริมาณควันธูป