21 พ.ย. , 2024, 09:30:00 am

Author Topic: * เกร็ดความรู้จีน - เคล็ดลับ - ธรรมเนียม - ประเพณี - มารยาท *  (Read 60752 times)

fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
พิธีและธรรมเนียมปฏิบัติ : ธรรมเนียมการมอบของขวัญของจีน

ของขวัญชิ้นน้อยแต่เปี่ยมด้วยน้ำใจ

ในสังคมจีนเมื่อต้องการมอบของขวัญแก่ผู้อื่นควรพิจารณาตามความเหมาะสมของแต่ละโอกาสและสถานการณ์
โดยทั่วไปเมื่อไปร่วมงานเลี้ยงที่บ้านเพื่อนหรือคนรู้จัก ควรนำของขวัญเล็กๆ น้อยๆ ติดไปให้ภรรยาของเจ้าบ้าน
เช่น ช่อดอกไม้ ผลไม้หรือผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น เป็นต้น

หากครอบครัวนั้นมีเด็กเล็ก อาจมอบของขวัญเป็นของเล่น ขนมหรือลูกอม
หากได้รับเชิญไปร่วมงานแต่งงาน นอกจากของขวัญประเภทของแต่งบ้านแล้ว
อาจจะมอบช่อดอกไม้หรือของขวัญที่ใช้ประโยชน์ได้แก่คู่บ่าวสาว ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่หรือเทศกาลโบราณต่างๆ
ปกติชาวจีนจะมอบปฏิทิน สุรา ใบชา ลูกกวาด หรือบุหรี่ให้เป็นของขวัญแก่กัน

 

จังหวะเวลาและวิธีการมอบของขวัญที่เหมาะสม

โดยทั่วไปผู้มอบควรมอบของขวัญให้แก่ผู้รับโดยตรง แต่หากเป็นงานแต่งงานอาจส่งของขวัญไปให้คู่บ่าวสาวก่อนวันงานได้
การมอบของขวัญปีใหม่หรือการมอบของขวัญในเทศกาลต่างๆ อาจส่งทางไปรษณีย์หรือวานให้ใครไปส่งถึงบ้านผู้รับก็ได้

หากผู้มอบไม่ได้มอบของขวัญแก่ผู้รับด้วยตนเองควรติดนามบัตรของตนไว้บนของขวัญด้วย
หรืออาจเขียนการ์ดอวยพรใส่ในซองขนาดพอเหมาะและเขียนชื่อผู้รับของขวัญบนหน้าซองให้ชัดเจน
จากนั้นจึงติดการ์ดอวยพรนี้ไว้บนห่อของขวัญ

ปกติแล้วการมอบของขวัญให้คนใดคนหนึ่งในกลุ่มคนที่อยู่รวมกันถือว่าไม่เหมาะสม
เพราะผู้รับอาจเข้าใจผิดว่าผู้มอบต้องการติดสินบนหรือหวังผลประโยชน์จากตน
นอกจากนี้ยังอาจทำให้คนอื่นที่ไม่ได้รับของขวัญรู้สึกว่าตนเองถูกหมางเมินหรือไม่ได้รับความสำคัญ

การมอบของขวัญแก่คนที่สนิทสนมกันก็ไม่ควรทำต่อหน้าผู้อื่น
ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าความสนิทสนมระหว่างผู้มอบและผู้รับเป็นความสัมพันธ์ที่พึ่งพาวัตถุ

การมอบของขวัญแก่คนที่สนิทสนมกันต่อหน้าคนจำนวนมากจะทำได้ก็ต่อเมื่อ
ของขวัญที่มอบให้นั้นเป็นของชิ้นเล็กที่มีความหมายพิเศษ เช่น ของที่ระลึกแทนใจ เป็นต้น
ในสถานการณ์เช่นนี้บุคคลอื่นๆ ที่อยู่ด้วยขณะมอบของขวัญก็จะกลายเป็น
ประจักษ์พยานแห่งมิตรภาพอันเปี่ยมด้วยความจริงใจระหว่างผู้มอบและผู้รับของขวัญ

 

ท่าทางเป็นมิตรและคำพูดที่เหมาะสมในการมอบของขวัญ

กิริยาท่าทางและคำพูดที่เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญอีกสิ่งหนึ่งในการมอบของขวัญ
เราควรใช้กิริยาท่าทางที่สุภาพและเป็นมิตรรวมถึงใช้คำพูดที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้รับยินดีรับของขวัญอย่างเต็มใจ

การแอบนำของขวัญไปวางไว้ใต้โต๊ะหรือวางไว้ที่ใดที่หนึ่งในบ้านถือเป็นวิธีการที่ไม่เหมาะสม
เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลตามที่ต้องการแล้วยังอาจได้รับผลในทางตรงกันข้ามด้วย

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของจีน โดยทั่วไปเมื่อจะมอบของขวัญให้ผู้อื่น
ผู้มอบมักจะใช้คำพูดที่ถ่อมตัวมากว่า (ของขวัญเพียงเล็กน้อย) หรือ (น้ำใจเพียงเล็กน้อย) เป็นต้น

เมื่อต้องการบอกรายละเอียดของของขวัญ ควรย้ำกับผู้รับว่าของขวัญนี้เป็นสิ่งแสดงน้ำใจ และความรู้สึกดีที่ผู้มอบมีต่อผู้รับ
ไม่ควรพูดถึงราคาค่างวดของของขวัญ
มิฉะนั้น จะกลายเป็นการให้ความสำคัญกับสิ่งของมากกว่ามิตรภาพ
หรืออาจทำให้ผู้รับรู้สึกว่าการรับของขวัญชิ้นนี้เหมือนการรับสินบนเอาไว้

 
ข้อควรระวังในการเลือกของขวัญ

การเลือกของขวัญจะต้องคำนึงถึงข้อห้ามและการถือเคล็ดของคนจีนด้วย เช่น

ในสังคมจีนจะมีคำกล่าวที่ว่า  (เรื่องดีมีเป็นคู่)
ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นโอกาสงานมงคลหรืองานเฉลิมฉลองใดก็ตาม ควรให้ของขวัญเป็นจำนวนคู่
แต่มีข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ คนกวางตุ้งถือว่าเลข "4" เป็นเลขอัปมงคล
เพราะเลข "4" ในภาษากวางตุ้งออกเสียงคล้ายกับคำว่า "ตาย"

นอกจากนี้สีต่างๆ ก็มีความหมายเฉพาะตัวเช่นกัน โดยทั่วไปแม้ว่าสีขาวจะหมายถึงความบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน
แต่สำหรับคนจีนแล้วสีขาวมักให้ความหมายในทางโศกเศร้าหรือยากจน
สีดำเป็นสีอัปมงคลที่สื่อถึงเภทภัยและการสูญเสีย

ส่วนสีแดงเป็นสีมงคลที่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมฉลอง จึงเป็นสีที่ได้รับความนิยมมากในหมู่คนจีน

ข้อควรระวังในการเลือกของขวัญอีกประการหนึ่งคือ
ไม่ควรมอบนาฬิกาให้เป็นของขวัญแด่ผู้สูงอายุ
เนื่องจากคำว่า“ซ่ง จง” "送钟" (มอบนาฬิกา) ออกเสียงเหมือนกับคำว่า“ซ่ง จง” "送终"
(ดูแลอยู่ข้างกายญาติผู้ใหญ่ขณะใกล้สิ้นใจ)

และไม่ควรให้สาลี่แก่คู่รักหรือคู่สามีภรรยา
คำว่า หลี "梨" (สาลี่) ออกเสียงเหมือนกับ หลี "离" ( แยกจาก)

ไม่ควรมอบดอกเบญจมาสให้ เพราะชาวจีนถือว่าเป็นดอกไม้ใช้สำหรับงานศพ

และเวลาคุณจะมอบหรือรับของขวัญก็ตาม รวมไปถึงนามบัตรด้วย คุณควรใช้มือทั้งสองข้างรับหรือให้ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความจริงใจ
และความเคารพนบนอบของคุณ (สมัยก่อน การใช้มือสองข้างก็เป็นการแสดงให้อีกฝ่ายหนึ่งได้เห็นว่าคุณไม่ได้พกอาวุธมาด้วย)



ที่มา : China Radio International. + Manager

« Last Edit: 10 มี.ค. , 2009, 02:45:50 pm by fengshui »

fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
การแพทย์และยาแผนจีน

การแพทย์แผนโบราณของจีนใช้หลักการหยินหยางและธาตุทั้งห้าเป็นทฤษฎีพื้นฐาน
และใช้วิธีตรวจวินิจฉัยโรค 4 วิธี คือ "วั่ง" (การมอง) "เหวิน" (การฟังและสูดดม) "เวิ่น" (การถาม) และ "เชี่ย" (การจับแมะหรือการจับชีพจร)

เมื่อวินิจฉัยโรคแล้วจึงดำเนินการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม การแพทย์แผนโบราณของจีนมีทฤษฎีเฉพาะศาสตร์ที่เป็นระบบ
โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติซึ่งประกอบขึ้นจากธาตุหยินและหยาง
ธาตุทั้งสองมีคุณสมบัติตรงข้ามกันแต่ต่างอยู่บนพื้นฐานของกันและกัน

ดังนั้นหากสภาพความสมดุลของหยินและหยางถูกทำลาย ก็ย่อมทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหลักการดำรงชีวิตและการเกิดโรคภัยต่างๆ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ
(เช่นสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล สภาพของพื้นที่ต่างๆ การผลัดเปลี่ยนของเวลากลางวันและกลางคืน เป็นต้น)

ดังนั้นระดับการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แตกต่างย่อมไม่เท่ากัน
ทำให้สภาพร่างกายและภาวะการเกิดโรคต่างกันไปด้วย

ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยโรคของการแพทย์แผนจีนจึงให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเวลา
สิ่งแวดล้อมและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลมาก โดยจะไม่วินิจฉัยอย่างตายตัวจากอาการของโรคเพียงอย่างเดียว

หลักการแพทย์แผนจีนถือว่าอวัยวะทุกส่วนในร่างกายรวมเป็นองค์เดียว
ดังนั้นการวินิจฉัยและรักษาโรคจึงไม่ได้พิจารณาจากความผิดปกติของอวัยวะเฉพาะส่วนหรืออาการป่วยเพียงด้านเดียว
แต่จะพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านและให้ความสำคัญกับแนวคิดองค์รวมของร่างกายเป็นสำคัญ
จากนั้นจึงเลือกใช้วิธีการรักษาหรือวิธีการป้องกันโรคที่เหมาะสม

 
วิธีการรักษาของการแพทย์แผนจีนมีหลากหลายวิธี โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
การรักษาภายในด้วยการรับประทานยาและการรักษาภายนอกด้วยยาทา การนาบด้วยความร้อน การรม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาแบบอื่น เช่น การฝังเข็ม การใช้กระปุกร้อนอังผิวหนัง การขูดผิวหนัง
การนวดกดจุด การนวดและชี่กง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการรับประทานยาหรืออาหารบำรุงประเภทต่างๆ อีกด้วย

 
ปัจจุบันการแพทย์และยาแผนจีนได้รับการพัฒนาและแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ทั้งยังมีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนจีนในระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้การแพทย์แผนจีนมีบทบาทมากขึ้นในวงการการแพทย์โลก
และคาดการณ์ว่าการแพทย์แผนจีนจะสามารถประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่การรักษาสุขภาพอนามัยของชาวโลกในอนาคต

 

การฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาโรคที่มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจีน
การรักษาแบบนี้เป็น "การรักษาโรคภายในจากภายนอก" ด้วยวิธีการเฉพาะ
โดยรักษาผ่านเส้นทางหลักและแขนงของทางเดินเลือดลมและจุดลมปราณต่างๆ


ทฤษฎีพื้นฐานของวิชาการฝังเข็มก็คือทฤษฎีเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลมภายในร่างกาย
แพทย์แผนจีนเชื่อว่าเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลมมีลักษณะเป็นทางหลักและแขนงย่อยที่โยงใยถึงกัน
จึงสามารถเชื่อมโยงอวัยวะส่วนต่างๆ ให้รวมเป็นองค์เดียวอย่างเป็นระบบ

การรักษาโดยวิธีการฝังเข็มโดยทั่วไปมักจะเลือกฝังเข็มบนจุดลมปราณที่อยู่บนเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลม
เพื่อไปกระตุ้นให้ภูมิต้านทานโรคภายในร่างกายของผู้ป่วยทำงานหรือเพื่อปรับสมดุลภายในร่างกาย
ทำให้สามารถรักษาโรคได้ตามความมุ่งหมาย
 

การวินิจฉัยโรคแบบแพทย์แผนจีน จะต้องหาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเสียก่อน
โดยการจำแนกลักษณะอาการของโรคเพื่อหาสาเหตุว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นมาจากความผิดปกติของเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลมเส้นใด
หรือมาจากอวัยวะภายในส่วนใด และต้องจำแนกว่าอาการดังกล่าวจัดเป็นอาการที่เกิดจากภายนอกหรือภายใน
เกิดจากความหนาวหรือความร้อน หรือเกิดจากความแกร่งหรือความพร่อง เป็นต้น

จากนั้นจึงค่อยรักษาด้วยการฝังเข็มตรงจุดลมปราณที่เหมาะสมตามอาการของโรค
เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีและเป็นการปรับสมดุลของหยินหยางและสมรรถภาพของอวัยวะภายในต่างๆ

 

วิชาการฝังเข็มเป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยตำราเล่มแรกของวิชานี้ชื่อว่า หวงตี้เน่ยจิง
การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มมีจุดเด่นหลายประการได้แก่ วิธีการรักษาเรียบง่าย เห็นผลเร็ว ประหยัดและปลอดภัย
ศาสตร์ทางการแพทย์แขนงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและสืบทอดต่อกันมาตลอดระยะเวลา 2,000 ปี
และในช่วงหลายปีมานี้วิชาการฝังเข็มก็กลายเป็นวิชาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในระดับนานาชาติ
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยและการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก



fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
วันหยุดตามกฎหมายของจีน
วันสำคัญที่รัฐบาลจีนประกาศให้เป็นวันหยุดตามกฎหมาย ได้แก่

วันขึ้นปีใหม่ ตรงกับวันที่ 1 มกราคมของทุกปี โดยปกติจะกำหนดให้วันที่ 1-3 มกราคมเป็นวันหยุดตามกฎหมาย
ในประเทศจีนไม่มีกิจกรรมการฉลองเป็นพิเศษในวันขึ้นปีใหม่

เทศกาลตรุษจีน ตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ - 7 ค่ำตามปฏิทินจันทรคติของจีน รัฐบาลจีนกำหนดให้ 7 วันนี้เป็นวันหยุดตามกฎหมาย แต่ละปีวันหยุดเทศกาลตรุษจีนจะไม่ตรงกันเนื่องจากเทศกาลนี้ถือตามปฏิทินจันทรคติ
แต่โดยปกติจะอยู่ในช่วงปลายเดือนมกราคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์
ในเทศกาลตรุษจีนชนชาติต่างๆ ทั่วประเทศจีนจะมีการเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่ทุกปี

 
วันแรงงานสากล ตรงกับวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี
ตามปกติรัฐบาลจีนจะประกาศให้วันที่ 1-7 พฤษภาคมเป็นวันหยุดตามกฎหมาย
 

วันชาติจีน ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคมของทุกปี วันที่ 1-7 ตุลาคมถือเป็นวันหยุดตามกฎหมาย
กิจกรรมการเฉลิมฉลองในวันชาติยิ่งใหญ่รองจากเทศกาลตรุษจีนเท่านั้น


สัปดาห์ทอง่
วันแรงงานสากลและวันชาติจีนของทุกปีจะเป็นช่วงวันหยุดยาว 7 วันของชาวจีน
ช่วงวันหยุดยาว 7 วันนี้เองที่เรียกว่า "สัปดาห์ทอง" "สัปดาห์ทอง" มีความหมายต่อชาวจีนแต่ละคนต่างกันไป


สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว วันหยุดยาวช่วงวันแรงงานสากลถือเป็นช่วงเวลาพักผ่อน
เนื่องจากสังคมจีนปัจจุบันมีจังหวะชีวิตที่เร่งรีบและมีแรงกดดันสูงในด้านการเรียนและการงาน
ชาวจีนจำนวนมากจึงเลือกที่จะใช้โอกาสช่วงวันหยุดยาวนี้ในการผ่อนคลายจิตใจ
 

ส่วนคนอีกจำนวนหนึ่งเลือกที่จะออกเดินทางท่องเที่ยว สำหรับผู้ที่มีรถยนต์ส่วนตัว โดยมากก็จะขับรถไปเที่ยวกับครอบครัว
ส่วนคนที่ทำงานอยู่ต่างถิ่นเป็นเวลานานก็มักเลือกพักผ่อนอยู่กับบ้านหรือกลับไปเยี่ยมพ่อแม่และครอบครัวที่บ้านเกิด
นักเรียนนักศึกษาจำนวนไม่น้อยถือโอกาสทำงานพิเศษในช่วงวันหยุดนี้ เช่น เป็นพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น
และมีคนจีนบางส่วนที่ใช้เวลาในช่วงวันหยุดยาวนี้อ่านหนังสืออยู่ที่บ้านหรือไปร้านหนังสือ
บางกลุ่มอาจไปเรียนพิเศษหรือเข้าคอร์สอบรม เนื่องจากความจำเป็นด้านการเรียนหรือหน้าที่การงาน

 
นอกจากนี้ กลุ่มชาวต่างชาติที่มาทำงานและใช้ชีวิตในประเทศจีนที่มากขึ้นเรื่อยๆ
บางส่วนก็ได้เข้าไปรวมอยู่ในกระแสนักท่องเที่ยวในช่วงสัปดาห์ทองนี้ด้วย


fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
ประเพณีการดื่มเหล้าและการส่งแขกหรือผู้ที่จะออกเดินทาง

1. ประเพณีการดื่มเหล้าของจีน

เหล้า ไม่ได้เป็นเพียงเครื่องดื่มเท่านั้น หากแต่หล่อหลอมเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
ตามประเพณีโบราณของจีน เหล้าเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในงานเลี้ยง
เนื่องจากชาวจีนถือว่าการดื่มเหล้าเป็นกิจกรรมพื้นฐานในการแลกเปลี่ยนและสร้างความเข้าใจระหว่างกัน
ดังนั้นหากมีการเลี้ยงแขกก็มักจะมีการดื่มเหล้าเป็นสิ่งคู่กันเสมอ ในโอกาสเทศกาลและวันสำคัญต่างๆ ของจีน
จะมีกิจกรรมการดื่มเหล้าที่มีความหมายแตกต่างกันออกไป

"เหล้าครบเดือน" (หม่านเย่ว์จื่ว) หรือ "เหล้าร้อยวัน" (ป่ายรื่อจิ่ว) เป็นประเพณีอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติกันทั่วไปในกลุ่มชนชาติต่างๆ ของจีน
การดื่มเหล้าครบเดือนนี้จะทำกันในโอกาสที่เด็กมีอายุครบหนึ่งเดือน
โดยจะมีการจัดโต๊ะเหล้าหลายโต๊ะ และเชิญญาติสนิทมิตรสหายมาร่วมฉลอง
ปกติผู้ที่มาร่วมงานจะต้องเตรียมของขวัญหรืออั่งเปามามอบแก่เจ้าภาพด้วย
 

"เหล้าอายุยืน" โดยทั่วไปจะดื่มกันในโอกาสฉลองครบรอบวันเกิดของผู้สูงอายุที่มีอายุครบ 50, 60 และ 70 ปีหรือสูงขึ้นไป
ซึ่งเรียกว่า "ต้าโซ่ว" งานเลี้ยงเหล้าอายุยืนนี้มักจัดโดยลูกหลานของผู้สูงอายุ และเชิญเพื่อนฝูงญาติพี่น้องมาร่วมงาน


"เหล้าขึ้นแป" (ซั่งเหลียงจิ่ว) และ "เหล้าขึ้นบ้านใหม่" (จิ้นอูจิ่ว) เป็นเหล้าที่ดื่มกันในโอกาสสร้างบ้านใหม่
ในชนบทจีนการสร้างบ้านถือเป็นเรื่องใหญ่ และในระหว่างการก่อสร้างนั้น ขั้นตอนการขึ้นแปบ้านถือเป็นขั้นตอนสำคัญ
ดังนั้นจึงมีประเพณีดื่มเหล้าฉลองในวันที่มีการขึ้นแป เมื่อบ้านสร้างเสร็จก็จะมีการดื่มเหล้าเฉลิมฉลองในวันขึ้นบ้านใหม่

ประเพณีการดื่มเหล้าขึ้นบ้านใหม่นี้มีจุดประสงค์หลักสองประการคือ
ดื่มฉลองที่บ้านใหม่สร้างเสร็จและอวยพรให้ผู้อยู่อาศัยประสบแต่ความสุขสวัสดี
อีกประการหนึ่งก็เพื่อเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษให้มาปกปักษ์รักษา


"เหล้าเปิดกิจการ" (ไคเยี่ยจิ่ว) และ "เหล้าแบ่งอั่งเปา" (เฟินหงจิ่ว) เป็นประเพณีการดื่มเหล้าที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า
เหล้าเปิดกิจการจะดื่มกันในโอกาสฉลองเปิดกิจการหรือโรงงานใหม่ เพื่ออวยพรให้กิจการรุ่งเรืองก้าวหน้า
ส่วนเหล้าแบ่งอั่งเปานั้นจะดื่มในโอกาสแบ่งเงินปันผลหรือเงินโบนัสในช่วงปลายปี


"เหล้าเลี้ยงส่ง" (จ้วงสิงจิ่ว หรือ ซ่งสิงจิ่ว) จะดื่มกันในโอกาสเลี้ยงส่งเพื่อนที่จะเดินทางไกลเพื่อเป็นการแสดงความรู้สึกอำลาอาลัย

 

2. การส่งแขกหรือผู้ที่จะออกเดินทาง

ตามธรรมเนียมปฏิบัติของจีน หากแขกที่มาเยี่ยมที่บ้านต้องการเดินทางกลับ
เจ้าบ้านจะต้องส่งแขกตั้งแต่แขกก้าวออกจากประตูบ้านและยืนรอจนกว่าแขกจะลับสายตาไป
การทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการให้เกียรติต่อแขกผู้มาเยือน โดยปกติเมื่อมีแขกมาเยี่ยมที่บ้าน

เจ้าบ้านจะต้องรอให้แขกเป็นผู้บอกลาก่อน หากเจ้าบ้านเป็นผู้บอกลาก่อนย่อมทำให้แขกรู้สึกว่าเจ้าบ้านไม่ต้อนรับหรือต้องการไล่แขก
ดังนั้นหากไม่มีความจำเป็นเจ้าบ้านจึงไม่ควรเป็นผู้บอกลาก่อน เมื่อแขกต้องการลากลับ

โดยทั่วไปเจ้าบ้านจะต้องพูดโน้มน้าวให้แขกอยู่ต่อสักครู่เพื่อแสดงถึงน้ำใจในการต้อนรับของตน
หากแขกยืนยันว่าต้องการลากลับ เจ้าบ้านจะต้องรอให้แขกเป็นผู้ลุกจากที่นั่งก่อนแล้วจึงลุกขึ้นตาม
มิฉะนั้นจะถือเป็นการเสียมารยาท


ส่วนธรรมเนียมการส่งแขกที่จะเดินทางกลับจะต้องเดินไปส่งแขกในระยะทางที่เหมาะสม
เช่น เดินไปส่งที่รถ หรือไปส่งถึงสถานีขนส่งหรือสนามบิน
เมื่อไปถึงสถานที่ส่ง ควรกล่าวอำลากับแขกและยืนส่งจนกว่าแขกจะเดินทางออกจากสถานที่นั้น


ในการกล่าวอำลา แขกผู้มีเยือนมักพูดว่า (ขอลาตรงนี้)  (โอกาสหน้าพบกันใหม่)
ส่วนเจ้าบ้านก็มักกล่าวว่า (ขอให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ)  (ขอให้ปลอดภัยตลอดการเดินทาง)
บางครั้งทั้งเจ้าบ้านและแขกต่างก็กล่าวคำว่า (แล้วพบกันใหม่) ต่อกัน
หรือต่างฝ่ายต่างกำชับให้ (รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี) หรืออาจฝากทักทายเพื่อนร่วมงานและคนในครอบครัวของแต่ละฝ่าย



fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
ชาเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้ในชีวิตประจำวันของชาวจีน เวลาทำงาน กินข้าว รับรองแขก ล้วนนิยมดื่มน้ำชา
เพราะว่า น้ำชาทั้งกลิ่นหอม แก้กระหายน้ำ แก้ร้อนใน และยังเป็นผลดีต่อการบำรุงสมอง

นักวิทยาศาสตร์สิงคโปร์ได้วิจัยผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปีที่มีความเคยชินดื่มน้ำชาจำนวนกว่า 2,500 คนเป็นเวลา 2 ปี
พบว่า 2 ใน 3 ไม่มีอาการความจำเสื่อม แต่ผู้ที่ไม่ดื่มน้ำชา 35% ความจำเสื่อมลง
แสดงว่า การดื่มน้ำชา ช่วยให้สมองสดชื่น ป้องกันโรคอัลไซเมอร์

ปัจจุบัน ชาวจีนนิยมดื่มชาหลายอย่าง อาทิ

ชาเกลือ การดื่มน้ำชาที่ผสมเกลือบางๆ สามารถรักษาไข้หวัด แก้ไอ ร้อนในและปวดฟัน

ชาน้ำส้มสายชู การดื่มน้ำชาที่เจือด้วยน้ำส้มสายชู จะบำรุงกระเพาะอาหาร แก้มาลาเรีย และปวดฟัน

ชาขิง การดื่มน้ำชาขิงหลังอาหาร บำรุงปอด บรรเทาอาการไอ ป้องกันและรักษาไข้หวัด และโรคไทฟอยด์

ชานม ต้มน้ำนมที่ใส่น้ำตาลกรวดขาวให้เดือด แล้วผสมด้วยน้ำชา จะได้ช่วยลดความอ้วน บำรุงม้าม และให้สมองสดชื่น

ชาน้ำผื้ง การดื่มน้ำชาที่ชงน้ำผึ้งและใบชาด้วยกัน จะสามารถแก้การกระหายน้ำ บำรุงเลือด ทำให้ปอดชุ่มชื่น บำรุงไต และแก้ท้องผูก

เนื่องจากชามีประโยชน์มากมาย จึงมีคนนิยมดื่มน้ำชาเป็นประจำจำนวนมากขึ้น แต่มักมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการดื่มน้ำชาดังนี้

1. ชอบดื่มชาใหม่ เนื่องจากชาใหม่เก็บมาเป็นเวลาสั้น มีสารที่ยังไม่เป็นอ๊อกซิไดซ์หลายอย่าง
ซึ่งจะระคายกรดเคลือบในกระเพาะอาหารและลำไส้จนทำให้เกิดโรคกระเพาะอาหาร ดังนั้น ไม่ควรดื่มชาใหม่ที่เก็บมาไม่ถึง 15 วัน

2. ดื่มน้ำชาที่ชงเป็นครั้งแรก เนื่องจากยาฆ่าแมลงและสารพิษอาจค้างอยู่บนใบชา ดังนั้น น้ำชาที่ชงเป็นครั้งแรกเป็นน้ำล้างชา ไม่ควรดื่ม

3. ดื่มน้ำชาขณะท้องว่าง จะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะอาหารจางลง และทำให้สารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพเข้าสู่เลือด
จะเกิดอาการเวียนหัว ใจหวิว มือเท้าชา

4. ดื่มน้ำชาหลังอาหาร เมื่อกรดฟอกหนังในใบชาผสมกับธาตุเหล็กในอาหารแล้วจะละลายได้ยาก
ถ้าทำติดต่อเป็นเวลานานจะทำให้ร่างกายขาดธาตุเหล็กจนเป็นโรคโลหิตจาง

5. ดื่มน้ำชาขณะเป็นไข้ ใบชามีด่างชา ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น

6. ผู้ป่วยโรคเป็นแผลในกระเพาะอาหารดื่มน้ำชาแล้ว คาเฟอินในใบชาจะทำให้น้ำย่อยอาหารในกระเพาะอาหารเพิ่มมากขึ้น
ทำให้กระเพาะอาหารเป็นแผลกระทั่งเป็นรูก็ได้

7. การดื่มน้ำชาในช่วงมีประจำเดือน โดยเพฉาะดื่มน้ำชาข้น
จะทำให้อาการไม่สบายในช่วงประจำเดือนหนักขึ้นเป็น 2.4 เท่าของผู้ที่ไม่ดื่มน้ำชา

8. การดื่มน้ำชาอย่างเดียวตลอดปี ควรดื่มน้ำชาตามการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล
ฤดูใบไม้ผลิควรดื่มน้ำชาดอกไม้
ฤดูร้อนดื่มน้ำชาเขียว ช่วยแก้ร้อนใน ขจัดสารพิษ เสริมสมรรถนะของกระเพาะอาหารและลำไส้ ป้องกันท้องเสีย
ฤดูใบไม้ร่วงควรดื่มชาอูหลง ไม่ร้อนไม่เย็น สามารถขจัดความร้อนออกจากร่างกาย
ส่วนฤดูหนาวดื่มชาแดงดีกว่า เพราะว่าชาแดงอุดมด้วยสารโปรตีน บำรุงร่างกายได้

9. กินยาด้วยน้ำชา จะทำให้ส่วนประกอบบางอย่างในยาเกิดตะกอน จนลดสมรรถภาพของยา

10. การดื่มน้ำชาเย็น ไม่เหมาะสำหรับผู้แพ้คาเฟอิน ผู้หญิงมีครรภ์ เด็ก ผู้มีโรคหัวใจ ผู้เป็นแผลในกระเพาะอาหาร

11. เติมน้ำตาลในน้ำชา น้ำชาหวานไม่เหมาะสำหรับผู้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานและผู้ที่กำลังลดความอ้วน

12. การดื่มน้ำชามากเกินควร ผลการวิจัยปรากฎว่า แต่ละวันดื่มน้ำชา 150 กรัม.ก็จะได้ผลบำรุงสุขภาพ
แต่บางคนเข้าใจว่า ดื่มน้ำชายิ่งมากยิ่งดี จนส่งผลกระทบต่อการนอนหรืออาการไม่สะบายอื่นๆ

13. ใบชาไม่ใช่ยิ่งเก็บนานยิ่งดี โดยเฉพาะชาผลไม้และดอกไม้
เนื่องจากมีน้ำเยอะ จึงขึ้นราง่าย ควรเก็บไว้ในตู้เย็น ส่วนใบชาอื่นๆ เมื่อหมดอายุแล้ว ไม่ควรดื่ม
เพราะว่าอาจเกิดสารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพขึ้น


วิธีการที่ชงน้ำชาที่ถูกต้องคือ

การชงชาเขียว ใช้น้ำร้อนอุณหภูมิ 80-90 องศา ถ้าชงผงชาเขียว ควรใช้น้ำอุ่น อุณหภูมิ 40-60 องศา

น้ำชาที่ชงเสร็จแล้ว ควรดื่มให้หมดภายใน 30-60 นาที เพราะว่าสารโภชนาการอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงเกิน 60 นาที

น้ำชาเขียวไม่ควรเข้นข้นเกินไป เพื่อจะไม่ส่งผลกระทบต่อการหลั่งน้ำย่อยของกระเพาะอาหาร

fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
ต้นกำเนิดของวันตรุษจีน

ในสมัยราชวงศ์ฉิง เป็นช่วงเริ่มมีประเพณีวันตรุษจีน
ในสมัยนั้น เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้คนจะกลับไปอยู่บ้าน ใช้ไม้หรือวัตถุอื่นๆปิดหน้าต่างทางทิศเหนือ จะจุดไฟในบ้านเพื่อให้มีควัน
และใช้ควันไล่หนูออกจากบ้านไป เตรียมตัวจะฉลองปีใหม่
ชาวบ้านจะเตรียมเหล้าและเครื่องบูชาเทพเจ้าทั้งหลาย เพื่อขอบคุณเทพเจ้าที่ช่วยคุ้มครองและขอให้คุ้มครองต่อไป

แต่สมัยนั้น ประเทศจีนยังไม่ได้รวมเป็นหนึ่ง ยังอยู่ในสภาพหลายก๊กหลายแคว้น
ฉะนั้น การฉลองปีใหม่จึงอยู่ในเวลาที่แตกต่างกัน มีจุดเหมือนกันก็คือ ล้วนอยู่ในฤดูหนาว
ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ต้องทำไร่ไถนา เป็นช่วงพักผ่อน ซึ่งการพักผ่อนนี้ ค่อยๆก่อรูปขึ้นเป็นประเพณีวันตรุษจีน

หลังราชวงศ์ฉิง ประเทศจีนเข้าสู่สมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งมีการรวมจีนเป็นเอกภาพแล้ว
เวลานั้น เป็นระยะเวลาหลังสงคราม จึงพยายามส่งเสริมให้พักผ่อน เพื่อฟื้นฟูการเกษตรและให้สังคมมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ทำให้ประชาชนเริ่มคิดถึงการใช้ชีวิตให้มีความสุข และค่อยๆมีเทศกาลต่างๆปรากฎขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อมีปฏิทิน "ไท่ชู" ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ปฏิทินฉบับนี้ ได้กำหนดให้วันชิวอิกเดือนอ้ายเป็นปีใหม่
ในวันนี้ จะไหว้เจ้า บูชาฟ้าดิน และจัดงานเฉลิมฉลองต่างๆพร้อมกัน พร้อมไปกับการพัฒนาของสังคม

แม้ว่าราชวงศ์มีการเปลี่ยนแปลง แต่วันปีใหม่นี้ไม่ได้เสื่อมลง กลับมีความเจริญยิ่งขึ้น
มีกิจกรรมจุดประทัด ติดยันต์ ดื่มเหล้า ส่งท้ายปีเก่า และชมโคมไฟ เป็นต้น
อีกทั้งยังได้ใช้เวลามากขึ้นด้วย จากหนึ่งวันกลายเป็นหลายวัน จนกลายเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน และเรียกกันว่า "วันตรุษจีน"

จนถึงราชวงศ์ถัง ประเพณีปีใหม่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป
ราชวงศ์ถังเป็นยุคสมัยที่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ
ผู้คนจึงเริ่มหลุดพ้นจากบรรยากาศบูชาเทพเจ้า ขอพรจากสวรรค์ วันปีใหม่ค่อยๆเปลี่ยนเป็นเทศกาลบันเทิง
จุดสำคัญในเทศกาลนี้ ไม่ใช่เทพเจ้า หากเป็นมนุษย์ไปเสียแล้ว ปีใหม่จึงเป็นวันดีของประชาชนทั้งหมด

เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ประเพณีปีใหม่มีความหมายกว้างยิ่งขึ้น
นอกจากให้ตัวเองได้พักผ่อนบันเทิงแล้ว ผู้คนยังเดินทางไปเยี่ยมเยือนกัน
มีการส่งของขวัญไปมาเพื่อแสดงความคิดถึงและความปรารถนาดีต่อกัน

ส่วนทางสังคมยังมีงานต่างๆด้วย ที่กรุงปักกิ่งมีการเที่ยวตลาด ชาวกวางโจวจะไปซื้อดอกไม้
ชาวเซี่ยงไฮ้จะไปเที่ยว "เฉิงหวงเมี่ยว" ชาวซูโจวจะไปฟังเสียงระฆังที่วัดหันซัน เป็นต้น


ในช่วงระยะเวลากว่า 2000 ปี ประเพณีวันตรุษจีนได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศ เข้าสู่วิถีชีวิตของทุกๆคน
และกล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของชนชาติจีน เมื่อถึงวันที่ 1 เดือนอ้ายตามจันทรคติ
คนจีนทุกคนจะกลับบ้าน ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหน จะพยายามกลับบ้านเพื่อไหว้บรรพบุรุษและอวยพรผู้ใหญ่
ให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ากัน ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของชาวจีนทุกคน

fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
ประเพณีวันตรุษจีน

ประมาณ 10 วันก่อนตรุษจีนจะมาถึง ชาวจีนก็เริ่มเตรียมตัวสำหรับเฉลิมวันขึ้นต้นปีใหม่กันแล้ว
เรียกว่า"หมังเหนียน" แปลตรงตัวก็คือ ยุ่งเกี่ยวกับการต้อนรับปีใหม่

ครอบครัวแต่ละบ้านจะทำความสะอาดบ้านกันขนาดใหญ่ เลือกซื้อเครื่องประดับเป็นสิริมงคลมาตกแต่งบ้าน
เพื่อต้อนรับญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรสหายมาอวยพรปีใหม่
ส่วนเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเตรียมกันอย่างดีคือ อาหารการกิน

อาหารช่วงตรุษจีนเรียกว่า"เหนียนหั้ว" หมูเห็ดเป็ดไก่ มีพร้อมทุกอย่าง
เมื่อตรุษจีนใกล้จะมาถึง ชาวจีนก็จะแห่กันไปซุปเปอร์มาร์เก๊ตเพื่อเลือกซื้อเหนียนหั้ว
ของที่จะหิ้วกลับมา มีทั้งเนื้อ ปลา เหล้า ใบชา น้ำตาล ผลไม้และผลไม้เปลือกแข็งครบทุกอย่าง

ตามประเพณีของชาวจีนที่อยู่ทางฝั่งใต้แม่น้ำแยงซีเกียง แต่ละบ้านจะต้องหุงข้าวสวยสำหรับปีใหม่ไว้ล่วงหน้า
ข้างบนใส่ส้ม กระจับ แห้วและผลไม้ชนิดต่างๆและเหนียนเกาหรือขนมปีใหม่ที่ทำเป็นรูปเงินตราโบราณของจีน ประดับด้วยกิ่งสน
เรียกข้าวนี้ว่า"เหนียนฟั่น"(ข้าวแห่งปีใหม่)

ส่วนชาวจีนทางภาคเหนือจะใช้ข้าวฟ่างกับข้าวธรรมดาผสมกันทำ"เหนียนฟั่น"
เนื่องจากข้าวฟ่างที่ต้มสุกแล้วจะออกสีเหลือง ขับความงามกับข้าวสวยที่เป็นสีขาว คนท้องถิ่นจึงตั้งชื่อเพราะๆว่า"ข้าวเงินทอง"
นอกนั้นยังมีส่วนประกอบอีกหลายอย่าง เช่นพุทรา เกาลัด ลำไยและกิ่งสน
แต่อาหารที่ชาวจีนทางภาคเหนือชอบกินมากที่สุดในวันสุกดิบคือเกี๊ยวน้ำ

ส่วนไส้เกี๊ยวมีมากมายหลายชนิด ไส้แต่ละชนิดมีความหมายดีๆต่างๆกัน
เช่น ไส้น้ำตาลหมายถึงฝากความปรารถนาที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
ไส้ถั่วลิสงหมายถึงฝากความหวังให้มีอายุยืน

บางครอบครัวจะแอบใส่เหรียญเงินไว้ในไส้เกี๊ยวด้วยถ้าใครเคี้ยวเจอเหรียญในเกี๊ยวน้ำ
ก็ถือเป็นคนโชคดีที่สุดที่จะพบลาภแห่งทรัพย์สินเงินทองตลอดปีใหม่ที่จะถึงนี้

อาหารการกินในช่วงเทศกาลตรุษจีน 5 วันจะอุดมสมบูรณ์มาก
แต่กับข้าวทุกมื้อต้องมีปลา เพราะปลาภาษาจีนออกเสียงว่า"หยี" พ้องเสียงกับภาษาจีนอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีความหมายว่า"มีเหลือ"
ที่ต้องกินปลาก็เพื่อให้ความหมายสิริมงคลที่จะเหลือกินเหลือใช้


fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
สำหรับที่ปักกิ่ง อาหารพื้นเมืองที่ผู้คนทั่วๆไปมักนิยมรับประทานกันก็คือ
เกี๊ยวหรือที่เรียกว่า"เจี่ยวจือ" เจี่ยวจือทำด้วยแป้งสาลี ข้างในมีไส้ต่างๆทั้งเนื้อและผัก ไ
ส้เจี่ยวจือมักทำด้วยเนื้อหมูสับผสมผักกาดขาวหรือผักอื่นๆตามชอบ แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน

การรับประทานเจี่ยวจือก็เพื่อเอาความหมายอันเป็นสิริมงคลของเกี๊ยวนั่นเอง
เพราะรูปลักษณ์ของเจี่ยวจือคล้ายกับเงินโบราณที่จีนเรียกว่า"หยวนเป่า" ซึ่งเป็นทองแท่งหรือเงินแท่งที่ใช้กันในสมัยโบราณ
หัวท้ายทั้ง 2 ข้างงอนขึ้น กลางแอ่นลง

ส่วนอาหารการกินในวันตรุษจีนของทางภาคใต้มักจะอุดมสมบูรณ์กว่าทางภาคเหนือของจีน
นอกจากอาหารประเภทหมูเห็ดเป็ดไก่แล้ว อาหารจำพวกขนมนมเนยก็มีมากมายหลายชนิด
คนจีนทางภาคใต้จะนิยมรับประทานขนม"เหนียนเกา"กันทุกปีเพื่อความหมายอันเป็นสิริมงคล
เพราะเสียงของคำว่า"เหนียนเกา" มีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า "เจริญขึ้นทุกปี"นั่นเอง แต่ตามตัวหนังสือแปลว่า"ขนมนึ่งประจำปี"

fengshui

  • Administrator
  • Hero Member
  • *****
เรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน

ที่ประเทศจีน พอถึงเทศกาลตรุษจีน คนจีนมักจะตกแต่งฉลองด้วยการแขวนโคมไฟตัวใหญ่สีแดงสดหน้าประตูบ้านหรือภายในอาคาร
ปิดตัวหนังสือ "ฮก" ไว้บนบานประตู ปิดภาพทวารบาล ปิดโคลงคู่ตามกรอบประตูบ้าน และปิดภาพวาดฉลองตรุษจีนในห้องรับแขก

นอกจากนี้ ยังมีการปิดกระดาษตัดและกระดาษแก้วตัดประดับหน้าต่าง เป็นต้น
ประเพณีดังกล่าวมีความเป็นมาตามการเล่าขานกันดังนี้

เล่ากันว่า แถบทะเลตงไห่มีภูเขาแสนสวยงามลูกหนึ่งเรียกว่า ภูเขาเมืองท้อ บนภูเขาแห่งนี้
มีต้นท้อต้นใหญ่ต้นหนึ่ง กิ่งก้านของต้นท้อที่ห้อยลงมาดูเหมือนเป็นประตูบานใหญ่
ภูตผีปีศาจต่างๆ ที่อยู่บนภูเขาดังกล่าวเวลาลงจากภูเขาก็ต้องผ่านประตูดังกล่าว แต่ก็ผ่านยาก

เพราะว่ามีนักรบเทพยดาสององค์เป็นยามเฝ้าประตูอยู่เพื่อ ไม่ให้ภูตผีปีศาจเล็ดลอดออกไปก่อกวนโลกมนุษย์
นักรบเทพยดาสององค์ดังกล่าวมีพระนามว่า "เซินซู" และ "ยวี่ลวี่"
หากผีตนใดตนหนึ่งถูกนักรบเทพยดาสจับได้ก็จะถูกมัดตัวส่งไปให้เป็นอาหารอันโอชะของเสือ
ฉะนั้น ภูตผีปีศาจทั้งหลายจึงล้วนมีความหวาดกลัวนักรบเทพยดาสององค์นี้มากที่สุด

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนจึงวาดภาพหรือเขียนพระนามของนักรบเทพยดาสององค์ดังกล่าวบนแผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ต้นท้อสองแผ่น
แล้วนำไปแขวนไว้สองข้างประตู เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากบ้านไป
แผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ท้อสองแผ่นนี้เรียกว่าเป็น "ยันต์ท้อ"

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ถางเมื่อศตวรรษที่ 7
นักรบเทพยดาสององค์บนยันต์ท้อถูกเปลี่ยนมาเป็นขุนศึกสองนายในโลกมนุษย์ ได้แก่ ฉินซูเป่าและเว่ยฉือก้ง
เรื่องมีว่า กษัตริย์ถางไท่จงเคยทรงพระสุบินว่ามีปีศาจร้องโฮๆ อยู่นอกพระราชวังบ่อยๆ พระองค์จึงบรรทมไม่ค่อยหลับ
ฉินซูเป่าและเว่ยฉือก้งซึ่งเป็นพระราชองครักษ์จึงไปเฝ้าประตูพระราชวังให้กับกษัตริย์ถางไท่จงโดยถืออาวุธในมือเพื่อขับไล่ปีศาจ

หลังจากนั้น ปรากฏว่า กษัตริย์ถางไท่จงสามารถเข้าบรรทมได้อย่างสงบ
อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่อยากให้พระราชองครักษ์สองนายดังกล่าวต้องถวายการเฝ้าประตูทุกคืน
จึงสั่งการให้วาดภาพอันองอาจกล้าหาญขององครักษ์สองนายดังกล่าว แล้วนำไปปิดที่ประตูพระราชวังเพื่อสยบภูตผีปีศาจต่างๆ
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยออกไป ชาวบ้านก็เอาเยี่ยงอย่างโดยนำภาพวาดของฉินซูเป่าและเว่ยฉือก้งไปปิดไว้ที่ประตูเช่นกัน
และเรียกสองคนดังกล่าวว่าเป็น "ทวารบาล"

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ซุ่ง ก็มีภาพวาดฉลองตรุษจีนปรากฏขึ้นมา คือ
พอถึงเทศกาลตรุษจีนก็จะนำภาพวาดฉลองตรุษจีนนั้นไปปิดไว้บนบานประตูหรือในห้องโดยจะไม่เปลี่ยนจนกว่าตรุษจีนครั้งต่อไป
คือ เปลี่ยนกันปีละครั้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ภาพวาดแห่งปี"

ประเด็นของภาพวาดฉลองตรุษจีนนั้น ส่วนใหญ่จะสื่อในทางสิริมงคล
ตัวอย่างเช่น ภาพไตรเทพยดา "ฮก ลก ซิ่ว" ซึ่งเป็นภาพที่พบบ่อยที่สุดเนื่องจากเทพยดาสามองค์ดังกล่าว
เป็นสัญลักษณ์แห่งบุญวาสนา ความมั่งคั่งและอายุยืน

นอกจากนี้ ยังมีภาพที่ชาวจีนนิยมกันมากที่สุดอีกภาพหนึ่งคือ "เด็กจ้ำม้ำอุ้มปลาหลีฮื้อ"
เนื่องจากคำว่าปลาในภาษาจีนพ้องจองกับคำว่า "เหลือ" ภาพนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่ง "การเหลือกินเหลือใช้ทุกๆ ปี"

ครั้นถึงราวศตวรรษที่ 10 "ยันต์ท้อ" ซึ่งประกอบด้วยแผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ท้อสองแผ่นก็ได้พัฒนามาเป็นโคลงคู่ตรุษจีน
โคลงคู่ตรุษจีนจะเป็นกาพย์กลอนประเภทคำอวยพรและความปรารถนาดีๆ ในรอบปีใหม่

สิ่งที่น่าสนใจคือ ของตกแต่งเหล่านี้ล้วนเป็นสีแดงสด ที่แสดงถึงความร้อนแรงและความครึกครื้น
ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นถึง "ความร้อนดั่งไฟ" "ความเป็นสิริมงคล" และ "ความผาสุข" ที่ชาวจีนนิยมกันมานับร้อยนับพันปี

.....

ก่อนวันตรุษจีนมาถึง ผู้คนทั้งหลายมักจะจุดประทัดกันเพื่อฉลองตรุษจีน
แต่ทุกวันนี้ เนื่องจากปัจจัยด้านความปลอดภัยและมลภาวะต่างๆ ในเขตเมืองปักกิ่งและเมืองใหญ่อื่นๆอีกหลายเมืองของจีน
ได้ใช้นโยบายห้ามจุดประืทัดกันเสียแล้ว

เมื่อถึงวันชิวอิด สมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กเล็ก
ต่างก็จะสวมใส่เสื้่อใหม่กันเพื่้อต้อนรับการมาเยือนของญาติมิตรหรืออกไปเยี่ยมเยียนและกล่าวสวัสดีปีใหม่กับญาติมิตร
ถ้าในรอบปีที่ผ่านมา เคยเกิดความขัดแย้งบางประการระหว่างกัน
แต่ขอให้ได้กล่าวอวยพรปีใหม่ต่อกันในช่วงตรุษจีน ก็จะถือกันว่า ทุกฝ่ายต่างได้ให้อภัยซึ่งกันและกันแล้วพร้อมๆกับปีใหม่ที่มาเยือน