http://www.thairath.co.th/content/568165เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์กำลัง เป็นประเด็นพูดคุยกันในโลกออนไลน์ และเป็นปัญหาฟ้องร้องกันระหว่างผู้ประกอบการกับชุมชน
อย่างเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ชาวบ้านซอยวัดบางกะพ้อม อ.อัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม นัดรวมตัวกันที่บ้านกุ้งแม่น้ำ ซึ่งตั้งอยู่ก้นซอยและติดแม่น้ำแม่กลอง เพื่อร่วมกันหาทางออกเรื่องการติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่บริเวณพื้นที่วัดบางกะพ้อม
“ผมยืนยันว่า การตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ที่โรงเรียนวัดบางกะพ้อม เทศบาลยังไม่ได้อนุญาต เมื่อมีคนแจ้งว่ามีการติดตั้งผมก็มาดู ปรากฏว่าสร้างเสร็จไปแล้ว เขาทำโดยไม่ได้บอกใคร นอกจากเจ้าของที่ดิน ซึ่งเป็นที่ของวัด” นายสุรศักดิ์บอก
นายสุรศักดิ์ ภิญโญภาวศุทธิ รองนายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา บอกถึงพฤติกรรมเจ้าหน้าที่บริษัทด้านโทรคมนาคมที่เข้ามาตั้งเสาส่งสัญญาณในพื้นที่วัดบางกะพ้อม ใกล้กับโรงเรียนวัดบางกะพ้อมและหน้าสนามเด็กเล่นโรงเรียนเด็กพิเศษวัดบางกะพ้อม
เนื่องจากการตั้งเสาติดกับโรงเรียนเด็กพิเศษ ทำให้นายอรรณพ ศรีอนันตพร ตัวแทนชาวบ้านเห็นว่าไม่เหมาะสม เกรงว่าคลื่นสัญญาณจะส่งผลต่อเด็กพิเศษและเด็กในโรงเรียน จึงได้ร้องเรียนไปยังเทศบาลผู้มีหน้าที่อนุญาตการติดตั้ง
และร้องไปยังนางสาวบุญยืน ศิริธรรม กรรมการองค์การอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เขต 6 ภาคตะวันตก น.ส.บุญยืนให้ความรู้เรื่องคลื่นสัญญาณจากเสาโทรศัพท์ว่า เป็นคลื่นที่มีอันตรายต่อสุขภาพ ควรตั้งให้ห่างจากชุมชนประมาณ 300-400 เมตร
พร้อมอ้างมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2553 กรณีฟ้องร้องเรื่องการตั้งเสาใกล้ที่อยู่อาศัยความว่า “การออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตนั้น สำนักงาน กทช.จะต้องดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอนด้วยความละเอียดรอบคอบอย่างเคร่งครัด หากผู้ขอรับใบอนุญาตยังมีปัญญาการร้องเรียนเรื่องนั้นอยู่ จะออกใบอนุญาตให้มิได้”
พร้อมบอกว่า มีการทดลองความแรงของคลื่นโทรศัพท์ในต่างประเทศ โดยนำเอาชิ้นหมูมาวางไว้ เอาโทรศัพท์มือถือมาวางใกล้ๆ แล้วส่งสัญญาณเรียกเข้าโทรศัพท์ทำติดต่อกันระยะหนึ่งพบว่าเนื้อหมูสุก
ดังนั้น การติดตั้งเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ ขั้นตอนในการจัดตั้งไม่ใช่แค่เช่าพื้นที่จัดตั้งอย่างเดียว แต่ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของพื้นที่ปกครองก่อน และก่อนที่จะยื่นเรื่องขออนุญาตตั้งเสา ต้องทำตามระเบียบของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ผู้ขออนุญาตต้อง “ดำเนินการจัดให้มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในบริเวณดังกล่าวไว้ด้วย พร้อมแนบเป็นหลักฐานประกอบการขออนุญาต”
ตามระเบียบนี้ การขออนุญาตตั้งเสาโทรศัพท์ในพื้นที่ใกล้ชุมชน ต้องสำรวจความคิดเห็นของประชาชนก่อน กรณีมีการตั้งอย่างลัดขั้นตอนในพื้นที่วัดบางกะพ้อม น.ส.บุญยืนให้แนวทางว่า เทศบาลควรบอกผู้ประกอบการเรื่องการทำผิดขั้นตอน จากนั้นให้ผู้ขออนุญาตเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชน ก่อนพิจารณาอนุญาตหรือไม่ต่อไป
ส่วนนายอรรณพยืนยันว่า เป็นห่วงสุขภาพของเด็กๆที่อาจจะเกิดอันตรายจากเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ โดยส่วนตัวแล้วถ้าชุมชนเอาอย่างไรก็ยินดียอมรับผลตามนั้น
คำแนะนำในการตั้งเสาส่งสัญญาณมือถือย่างปลอดภัยจากสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) คือควรลดระดับความเข้มของคลื่นที่ไม่เป็นภัยกับประชาชนในระยะยาว ควรตั้งเสาห่างจากโรงเรียน โรงพยาบาล หรือชุมชนอย่างต่ำ 300-400 เมตร และไม่ควรตั้งเสาบนหลังคาอาคาร
กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้ ควรใช้อุปกรณ์กำลังรับส่งต่ำติดตั้งตามจุดต่างๆแทนการติดตั้งเสาส่งขนาดใหญ่
ภัยจากสัญญาณคลื่นนั้น สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) ได้เผยแพร่ผลกระทบต่อสุขภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งเป็นงานค้นคว้าของ ดร.สุเมธ วงศ์พานิชเลิศ ซึ่งอ้างผลวิจัยจากต่างประเทศว่า ในประชากร 530 คนที่อยู่ใกล้เสาสัญญาณโทรศัพท์ในรัศมี 400 เมตร พบว่ามีอาการผิดปกติต่างๆ อาทิ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ฉุนเฉียวง่าย ซึมเศร้า สูญเสียความทรงจำ คลื่นไส้ และปัญหาในการมองเห็น
และอ้างงานวิจัยอีกว่า ผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารชุดภายใต้และตรงกันข้ามบริเวณเสาส่งสัญญาณที่ตั้งบนหลังคาอาคารชุด พบว่ามีอาการต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยดังกล่าว ได้แก่ ปวดศีรษะ ปัญหาความทรงจำ วิงเวียน อาการสั่น ซึมเศร้า สายตาพร่ามัว นอนไม่หลับ ฉุนเฉียวง่าย และขาดสมาธิ
และยังพบอีกว่า กลุ่มประชากรที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้กับเสาสัญญาณภายในระยะ 400 เมตร เป็นเวลา 5 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงขึ้น 3 เท่าตัว
กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เผยแพร่ว่า สัญญาณจากเสาโทรศัพท์ไม่มีผลต่อสุขภาพนั้น น.ส.บุญยืน ยืนยันว่าไม่จริง เพราะนั่นเป็นการเคลมมาจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เกี่ยวกับคลื่นสัญญาณ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพ
ตัวแทนชาวบ้านบางกะพ้อม หลังจากฟังผลร้ายจากคลื่นเสาโทรศัพท์แล้ว ก่อนแยกย้ายต่างแสดงทรรศนะเกี่ยวกับข้อจำกัดของชุมชน เช่น หน่วยงานของรัฐในพื้นที่ไม่ค่อยรู้เรื่องระเบียบต่างๆของการจัดตั้งเสาและการกระจายคลื่นสัญญาณ และเชื่อว่าประเด็นนี้เป็นจุดอ่อนหนึ่งของผู้ปกครองท้องถิ่นในการให้อนุญาตการจัดตั้งเสาสัญญาณ
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโทรคมนาคม ควรเผยแพร่ความรู้เรื่องระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆ ในการอนุญาตให้กับผู้ปกครองท้องถิ่นอย่างทั่วถึงด้วย และช่วงนี้ รัฐบาลกำลังไฟเขียวให้กระจาย “เน็ตหมู่บ้าน” ไปทั่วประเทศ เมื่อบวกกับการให้สัมปทานคลื่น 3 จี และ 4 จี ทำให้เสาส่งสัญญาณต้องผุดขึ้นอีกมหาศาล
คลื่นที่มีคุณอนันต์เหล่านี้ จะป้องกันโทษมหันต์ได้อย่างไร.