13. กรณีที่สุขภาวะของชุมชนดีขึ้นภายหลังการย้ายเสาให้ห่างจากพื้นที่ดังตัวอย่างข้างต้น มีจำนวนไม่น้อย แต่ในทางกลับกัน เมื่อชุมชนมีสุขภาวะลดลงอย่างผิดปกติวิสัยอย่างชัดเจนโดยเห็นว่าน่าจะเป็นเพราะเสาโทรศัพท์ฯที่ตั้งภายในชุมชน แล้วกลับไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็อาจนำไปสู่การทำลายเสาโทรศัพท์ฯได้ ดังเช่น
1) ในประเทศอิสราเอล เกิดการจลาจรและการเผาเสาโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯทั้งหมดในหมู่บ้าน Druses แคว้น Usfiyeh เมื่อ14 มีนาคม 2000 เนื่องจากมีผู้เป็นมะเร็งรวมกันถึงกว่า 200 คน อีกทั้งที่ Neve Horesh ในเมือง Dimona ก็มีการทำลายเสาโทรศัพท์เมื่อ 27 กันยายน 2006 เช่นกัน <
www.radiationresearch.org>
2) ประเทศไต้หวัน ในช่วงปี 2005 มีการทำลายเสาโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึงเกือบ 900 เสา <http://www.digitimes.com/telecom/a20060316A9052.html>
ดังนั้นการไม่ทำอะไร (Do nothing strategy) ในกรณีนี้ จึงมิใช่มาตรการที่ดีในการบริหารจัดการกับปัญหาแม้จะยังขาดข้อยุติในมูลเหตุของปัญหาก็ตาม
ค. ปฏิกิริยาของหน่วยงานหรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง
14. ข้อสงสัยเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (โดยเฉพาะสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เสาสัญญาณและเครื่องโทรศัพท์ไร้สาย) ดูเหมือนจะไม่แตกต่างกับปัญหากรณีบุหรี่ (Tobacco), DDT หรือ Asbestos ฯลฯ ในอดีต หรือ ปัญหาพืชตัดต่อพันธุกรรม (GMO) และภาวะโลกร้อนในขณะนี้ ซึ่งการรอจนสามารถพิสูจน์ผลทางวิทยาศาสตร์อย่างปราศจากข้อสงสัย จึงอาจจะนำไปสู่ความสูญเสียอันมหาศาลทั้งในทางตรงและทางอ้อมดังกรณีต่างๆข้างต้น
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์แนวหน้าในโลกที่ตระหนักและรู้เห็นถึงความเป็นไปได้สูงในอันตรายของคลื่นฯ กำลังต่ำ จึงต่างออกมาให้คำเตือนต่อสาธารณะ อาทิ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ได้มีนักวิทยาศาสตร์จำนวน 42 คน ร่วมลงนามในแถลงการ Benevento Resolution (
www.icems.eu) อีกจำนวนไม่น้อยที่ออกมาเปิดเผยผลงานวิจัย ทั้งในเชิง Epidemiology และการทดลองด้วยสัตว์ หรือ เซลล์มนุษย์ (in-vitro) จำนวนมาก ซึ่งต่างทำให้เชื่อได้ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าตั้งแต่ 0 Hz ถึง 300 GHz แม้มีความแรงต่ำก็สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ได้ทั้งสิ้น
แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะให้การปฏิเสธ หรือยืนยันว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าไม่น่าจะส่งผลกระทบหากมีระดับไม่เกินกว่าเกณฑ์สากลที่กำหนด
หรือไม่ก็มักจะอ้างว่า การให้บริการมีความปลอดภัยดี จนกว่านักวิทยาศาสตร์จะสามารถชี้ถึงสาเหตุที่มา (Mechanism) ว่าอันตรายจากคลื่นกำลังต่ำมีผลทางชีววิทยาอย่างไร ทำให้เกิดมะเร็งจริงหรือไม่
อีกไม่น้อยเช่นกันที่มีการเผยแพร่หรือสนับสนุนงานวิจัยโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งสรุปว่าคลื่นจากเสาสัญญาณหรือจากเครื่องโทรศัพท์ไร้สาย ยังไม่พบผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ในระยะสั้น (Short-term) แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันในผลกระทบระยะยาว (Long-term) ได้
15. ในประเด็นข้างต้น ข้อสังเกตหนึ่งที่พึงจะคำนึงถึงก็คือ ประเด็นความลำเอียง (bias) ของนักวิจัย โดยอาจพิจารณาว่าผลงานกลุ่มใดน่าจะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่และมากน้อยกว่ากันเพียงใด
ดังประสบการณ์ในอดีตอย่างกรณีบุหรี่ หรือประเด็นภาวะโลกร้อนจากการใช้พลังงานจากถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติในขณะนี้ ซึ่ง James Hansen, ผู้อำนวยการ Goddard Institute for Space Studies ภายใต้ NASA ในสหรัฐฯ (หนึ่งใน 100 บุคคลที่ Times ยกย่องเป็นบุคคลทรงอิทธิพลของโลกปี 2006) ได้กล่าวต่อสาธารณะไว้อย่างน่ารับฟังว่า
อุตสาหกรรมฯกำลังปกปิดสาเหตุสภาวะโลกร้อนที่แท้จริงจากสาธารณะและผู้กำหนดนโยบาย แบบเดียวกับที่ผู้ผลิตบุหรี่ ซึ่งรู้แก่ใจว่าบุหรี่เป็นสาเหตุระเร็งปอด แต่ผู้ผลิตได้จ้างนักวิทยาศาสตร์ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
(The industry is misleading the public and policy makers about the cause of climate change. And that is analogous to what the cigarette manufacturers did. They know smoking caused cancers, but they hired scientists who said that was not the case (Bangkok Post, April 8, 2008))
ขณะเดียวกันจากผลการสำรวจนักวิทยาศาสตร์จำนวน 5,500 คนของ Environment Protection Agency (EPA) ในกรุงวอชิงตัน ซึ่งมีนักวิทยาศาสตร์ตอบแบบสอบถาม 1,586 ราย พบว่าร้อยละ 60 ได้ตอบว่า มีประสบการณ์ การแทรกแซงงานวิจัยจากฝ่ายการเมือง (political interference) (Bangkok Post, April 25, 2008)
ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่กฎระเบียบ (regulations) เกี่ยวกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมที่ประกาศใช้อาจไม่สมเหตุสมผลก็ได้ ซึ่ง EPA เองก็เคยปกป้องเกณฑ์ของ FCC (หรือ ICNIRP) ว่าด้วยการแผ่คลื่นฯมาแล้วถึง 2 ครั้งว่ามีความเหมาะสมอยู่
ในทางกลับกัน ตัวอย่างองค์กรอีกกลุ่มซึ่งทำหน้าที่ปกป้องสิทธิของผู้อาจถูกผลกระทบนั้น จะได้กล่าวถึงในหัวข้อต่อไป
ง. ประสบการณ์การดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหาในบางประเทศ
16. นโยบายและมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้จากการแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จำเป็นต้องจำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม กล่าวคือกลุ่มผู้ใช้บริการ และกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบจากเสาโทรศัพท์ฯ ดังต่อไปนี้
การใช้โทรศัพท์ไร้สาย ถือเป็นสิทธิส่วนบุคลที่ผู้ใช้ย่อมสามารถตัดสินใจจะเลือกใช้อย่างไร มากหรือน้อยเท่าใด ฉะนั้นมาตรการสำหรับกลุ่มนี้จึงเป็นเรื่องการสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และการให้คำปรึกษาแนะนำที่เหมาะสมทันการณ์ อย่างเช่น
1. หากไม่มีทางเลือกอื่น ควรจะใช้ด้วยเวลาน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ (ไม่ใช่ไม่ควรจะใช้)
2. หากเป็นไปได้ควร เลือกใช้โทรศัพท์ใช้สาย (โทรศัพท์บ้าน) แทน แต่ต้องไม่ใช่แบบไร้สาย (cordless phone ซึ่งก็มีผลกระทบเช่นเดียวกันกับโทรศัพท์มือถือ)
3. ควรใช้อุปกรณ์ Hands-Free แบบ Speaker phone (ลำโพง) จะดีกว่า
ทั้งนี้ ในปี 2007 รัฐบาลเยอรมนีได้ออกประกาศแนะนำประชาชนของตน ให้หันไปใช้โทรศัพท์ใช้สายแทนการใช้โทรศัพท์มือถือ รวมทั้งแนะนำให้ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ แทนที่จะใช้ WiFi อีกด้วย (The New Zealand Herald, September16, 2007)
อีกทั้งมีรายงานจากสวีเดนเกี่ยวกับการใช้ Cordless Phone ภายในบ้านว่า มีผลกระทบมากกว่าการใช้เครื่องโทรศัพท์มือถือมาก (News of the World Cordless handsets 100 times worse than mobiles, say experts, February 5, 2006) และยังได้มีการทดสอบอุปกรณ์ Hands-Free แบบ Ear phone (หูฟัง) โดย CA (Computer Associates) พบว่าอุปกรณ์เหล่านี้มีอัตราความเสี่ยงสูงกว่าตัวเครื่องโทรศัพท์มือถือถึง 3 เท่าตัว เนื่องจากอุปกรณ์และสายที่ต่อไปยังเครื่องโทรศัพท์ฯ จะทำหน้าที่เป็นเสาอากาศซึ่งจะรับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกย่านความถี่ (Yahoo News, April 2000) อุปกรณ์อย่าง blue-tooth จึงไม่ใช่ทางออกเช่นกัน
ดังนั้นการไม่ใช้เครื่องโทรศัพท์แบบไร้สายเป็นเวลานานๆ หรือการหันมาใช้เครื่องแบบมีสายแทน จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในการลดความเสี่ยงใดๆ หากมีการยืนยันว่าผลกระทบฯมีจริงในที่สุด
17. ในอีกแง่หนึ่ง หากการตั้งเสาโทรศัพท์ฯ (รวมถึงเสาสถานีวิทยุ-โทรทัศน์ อุปกรณ์ WiFi หรือ Wi MAX ต่อไปในอนาคต) ได้สร้างผลกระทบขึ้นจริง จะถือได้ว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เนื่องจากผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงจะรับผลกระทบตลอดระยะเวลาโดยไม่มีทางเลือก (imposed risks) ใดๆ แม้ว่าตนเองจะไม่เป็นผู้ใช้บริการก็ตาม หรือมีลักษณะเดียวกันกับกรณีผู้สูบบุหรี่ประเภทสอง (second hand smokers) ซึ่งสมควรและปัจจุบันก็ได้รับการคุ้มครองจากภาครัฐ
สิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางภาครัฐควรและต้องทำ ก็คือการตั้งมาตรฐานระดับความเข้มของคลื่นฯ ที่ไม่เป็นภัยกับประชาชนในระยะยาว ควบคู่กับการสื่อสารให้ข้อมูลความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและทันการณ์แก่ประชาชน เช่น ทางเลือกและการใช้เทคโนโลยีแต่ละชนิดอย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว
มาตรฐานที่ประเทศส่วนใหญ่ในโลกใช้ โดยทั่วไปมักอิงกับข้อแนะนำของ ICNIRP (1998) หรือ International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection อันเป็นเกณฑ์ที่ WHO รับรอง อีกทั้ง เป็นเกณฑ์ตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรฐานการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม 2550 และ มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพฯ กทช.ม.ท.5001-2550 ซึ่งกำหนดความเข้มไม่ให้เกิน 4,500 mW/m2 (หรือ 41 V/m) สำหรับคลื่น 900 MHz และ 9,000 mW/m2 (หรือ 58 V/m) สำหรับคลื่น 1800 MHz
18. อย่างไรก็ดี เนื่องจากปรากฏว่ามีงานศึกษาวิจัยจำนวนไม่น้อย ซึ่งชี้ถึงผลกระทบทางชีววิทยา (biological หรือ non-thermal effects) แม้ในระดับความเข้มซึ่งต่ำกว่าข้อแนะนำของ ICNIRP/WHO ดังนั้นจึงมีรัฐบาลในระดับประเทศหรือท้องถิ่น ทำการปรับลดเกณฑ์ที่บังคับใช้เสียใหม่ อาทิ ประเทศอิตาลี (ปี 1999) ได้ตรากฎหมายจำกัดความแรงทั้งคลื่น 900 และ 1800 MHz ที่ระดับ 6 V/m ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ (ปี 2000) ได้จำกัดความแรงคลื่น 900 และ1800 MHz ที่ระดับ 4 และ 6 V/m ตามลำดับ หรือเท่ากับการลดกำลังคลื่น (density) ลงระหว่าง 50-90 เท่าตัวเทียบกับกำลังสูงสุดตามคำแนะนำของ ICNIRP (International Conference on Cell Tower Siting, Salzburg,June 7-8,2000)
นอกจากนี้แล้วรัฐบาลท้องถิ่น เช่น Wallonia, Moscow หรือ Salzburg ก็ได้กำหนดมาตรฐานของตนเองซึ่งต่ำกว่าที่รัฐบาลกลางใช้อยู่ โดยยึดตามหลักการ Precautionary Principle" ที่สหประชาชาติ (UN) เห็นชอบในการประชุมด้าน Environment and Development ณ กรุง Rio de Janeiro ประเทศบราซิลในปี 1992 ซึ่งสาระของหลักการที่สำคัญ คือ
"ในกรณีที่มีเหตุผลอันเชื่อได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพมนุษย์ หรือต่อสิ่งแวดล้อมใดๆแล้ว จักต้องมีมาตรการป้องกันอย่างเหมาะสม ถึงแม้ว่าจะยังขาดข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนก็ตาม
ทั้งนี้คำนิยามว่าด้วยสุขภาพมนุษย์ของ WHO มิใช่ครอบคลุมเพียงสุขภาพกายที่ควรปลอดจากการเจ็บไข้ได้ป่วยเท่านั้น หากยังรวมถึงสุขภาพจิต และสภาวะทางสังคมที่ดีอีกด้วย (A state of complete physical, mental, and social well-being, and not merely the absence of disease or infirmity)
19. ประเทศและเมืองที่ยึดถือหลักการ Precautionary principle จึงต่างกำหนดขีดจำกัดให้ต่ำกว่าของ ICNIRP /WHO อย่างเช่น สำหรับคลื่น 1800 MHz ได้แก่ (ตามลำดับจากมากไปน้อย) Belgium (1,115 mW/m2), Poland, Italy, Russia, และ Switzerland (100 mW/m2), Wallonia ใน Belgium (24 mW/m2), Moscow ใน Russia (20 mW/m2) และ Salzburg ใน Austria (ภายนอกตัวบ้าน 0.01 mW/m2 และภายในบ้าน 0.001 mW/m2 ในปี 2000 ซึ่งลดลงจาก 1 mW/m2 ที่ใช้ในปี 1998)
อีกทั้งรัฐสภากลุ่มสหภาพยุโรป (EU Parliament) ก็ได้มีมติในปี 2001 ให้ใช้เกณฑ์แนะนำ (quidance) ที่ระดับ 0.1 mW/m2 เป็นต้น
20. นอกเหนือจากมาตรการทางกฎหมายหรือกฎระเบียบแล้ว การให้ข้อมูล ความรู้ คำแนะนำ รวมถึงกระบวนการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ผู้ประกอบการ และชุมชนที่อาจรับผลกระทบจากการตั้งเสา ล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญตามหลักการแห่ง Precautionary Principle ทั้งสิ้น
อย่างเช่น กรณีของ SAEFL (2005) ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีอยู่รอบตัวมนุษย์ (electrosmog) ตั้งแต่ สายไฟแรงสูงและแรงต่ำ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน บริเวณตามแนวรางรถไฟ หรือใกล้เสาสัญญาณโทรศัพท์ หรือเสาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ จนถึงตัวอุปกรณ์สื่อสารไร้สายทุกชนิด (รวมถึงอุปกรณ์ WiFi และ WiMax หรืออื่น ๆ ในอนาคต)
ในทำนองเดียวกัน รัฐบาลเยอรมันยังได้แถลงเมื่อ September 2007 แนะนำผู้บริโภคให้ใช้โทรศัพท์มีสายและอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงที่ใช้สาย (ADSL) แทนการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ WiFi (เนื่องจากอุปกรณ์ WiFi ทำหน้าที่เป็นสถานี หรือเสารับ-ส่งสัญญาณด้วยคลื่นความถี่สูง)
อีกทั้งในสารคดี Panorama ซึ่งแพร่ภาพทาง BBC TV ในเดือน May 2007 ได้พิสูจน์ความแรงคลื่นจาก WiFi ที่วัดได้เทียบเท่ากับความแรงคลื่นห่างจากเสาสัญญาณโทรศัพท์ที่ในระยะ 150 เมตร
ในสารคดีดังกล่าวยังได้มีการสัมภาษณ์ผู้ป่วยในสวีเดน ที่มีอาการ electrosensitivity (บางครั้งเรียกว่า electro hypersensitive syndrome, EHS) หรือภูมิแพ้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดหัว หรือหัวใจเต้นแรง หรืออ่อนเพลีย ฯลฯ ในทันทีที่เข้าใกล้เสาส่งสัญญาณโทรศัพท์ หรือวิทยุ หรือโทรทัศน์
ซึ่งรัฐบาลสวีเดนได้ยอมรับและจัดให้เป็นโรคอย่างหนึ่ง โดยผู้ป่วยจะได้รับสิทธิคุ้มครองทั้งในค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลจนถึงค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงที่พักอาศัย (กรณีใกล้เสาส่งคลื่นความถี่สูง) เพื่อลดผลกระทบดังกล่าว
สุดท้ายกระบวนการมีส่วนร่วมแบบไตรภาคี เป็นหนทางที่สามารถนำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสุขสงบ เป็นประโยชน์และผลดีร่วมกันทุกๆฝ่ายได้ อย่างเช่นในกรณีของชุมชนใน Salzburg ซึ่งครั้งหนึ่งในช่วงปี 1998 ได้ลุกขึ้นประท้วงการตั้งเสาโทรศัพท์เคลื่อนที่ จนนำไปสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย ระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น ผู้ประกอบการและชุมชน
จนในที่สุดต่างยอมรับในข้อเสนอของกรมสาธารณสุข (Department of Public Health) ให้ใช้เกณฑ์ 1 mW/m2 cumulative (ซึ่งอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ICNIRP เกือบ 10,000 เท่า) และต่อมาเมื่อผู้ประกอบการรายที่ 4 รายใหม่ (tele.ring)ได้รับใบอนุญาตประกอบการในเดือน May 1999 ก็ได้มีการเจรจาและได้ข้อยุติรับเงื่อนไขติดตั้งเสาโดยแผ่คลื่นฯในระดับไม่เกิน 0.25 mW/m2 หรือในสัดส่วน 1 ใน 4 ของเกณฑ์ cumulative สูงสุด เนื่องจากมีผู้ประกอบการให้บริการในบริเวณเดียวกัน 4 ราย (Oberfeld G และ Konig C, 2000)
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
21. สืบเนื่องจากได้ปรากฏข้อมูลจำนวนไม่น้อยจนเกิดการยอมรับในหมู่นักวิทยาศาสตร์และผู้กำหนดนโยบายในหลายๆ ประเทศ ทำให้มีเหตุผลพอเชื่อได้ว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งช่วง ELF จนถึงช่วงไมโครเวฟ ที่ใช้สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ WiFi หรือ WiMAX มีผลกระทบต่อสุขภาวะได้
อาทิ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ได้ถือว่าคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทุกย่านความถี่เป็นมลภาวะประเภทหนึ่ง (ดูหน้า 7 ใน SAEFL: Electrosmog in the environment)
ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหลายของไทยจึงสมควรจะทบทวนนโยบาย และมาตรการป้องกัน สุขภาพ ของประชาชนให้สอดคล้อง ตามนิยามของ WHO และ พ.ร.บ. สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 10 และ 11 ดังข้อเสนอแนะต่าง ๆ ดังนี้
1) กำหนดเกณฑ์รวม (cumulative) สูงสุดของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าทั้งย่าน ELF และ RF ใหม่ ที่สอดคล้องกับหลักการแห่ง Precautionary Principle เป็นต้นว่าให้จำกัดคลื่น ELF ไม่ให้เกิน 2 mG และคลี่น RF รวมกันไม่เกิน 0.6 V/m หรือ 1 mW/m2
2) สนับสนุนเทคโนโลยีและบริการทางเลือก ได้แก่ ระบบโทรคมนาคมที่ใช้สาย (เช่นใยแก้วนำแสงหรือทองแดง)
3) ให้ความรู้ข้อมูลและทำการประชาสัมพันธ์ เกี่ยวกับประเด็นลดละการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือโทรศัพท์ไร้สายเป็นเวลานาน ๆ เนื่องจากอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ (Potential health risks)ได้
4) แนะนำผู้ปกครองให้ละเว้น หรือจำกัดการใช้ข้างต้นในกลุ่มผู้เยาว์วัยโดยหันไปใช้ระบบที่เป็นสายแทน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่สามารถรับผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้มากกว่าผู้ใหญ่มาก
5) ให้ละเว้นการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ ในบริเวณใกล้สถานพยาบาล โรงเรียน ชุมชน ที่พักอาศัย รวมถึงการตั้งเสาใหม่บนหลังคา อาคาร/ ตึกแถว เนื่องจาก ความแรงของคลื่นวัดที่จุดสูง ๆ มีระดับสูงกว่าจุดแนวพื้นราบในบริเวณเดียวกันถึงร้อยเท่าตัวได้
6) สำหรับการตั้งเสาใหม่เพื่อให้บริการในพื้นที่ชุมชนหนาแน่น หากไม่สามารถจัดหาบริเวณที่ห่างออกไปอย่างน้อย 300 เมตรได้ ควรแก้ปัญหาด้วยวิธีการการทางเทคโนโลยี อาทิ ด้วยการติดตั้ง micro-cells หรือ nano-cells ตามแนวเสาไฟฟ้าหรือด้วยวิธีการอื่นๆ แทน ดังที่ใช้กันในต่างประเทศ (WHO, 2005 หน้า 17 และ 29)
หมายเหตุ อุปกรณ์เครื่องโทรศัพท์มือถือสามารถใช้งานได้ถึงระดับความแรงคลื่น 0.00003 V/m หรือ กำลังคลื่น 2.0 x 10-9 mW/m2
7) ก่อนการติดตั้งเสาใหม่ควรสร้างความเข้าใจทั้งในผลกระทบเชิงบวกและเชิงลบแก่ชุมชนในบริเวณนั้นๆ จนได้ข้อยุติเห็นชอบร่วมกันโดยยืนยันในมาตรการต่างๆที่รัฐและผู้ประกอบการต่างจะดำเนินการเพื่อป้องกันหรือลดผลกระทบเชิงลบทั้งปวง
จัดหาหน่วยงานอิสระที่มีความน่าเชื่อถือ ออกตรวจและวัดระดับความเข้มของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นระยะๆและเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวต่อสาธารณะ
9) ติดตามข่าวสารข้อมูล และผลงานวิจัยด้านผลกระทบต่อสุขภาพในโลก โดยร่วมมือและ/หรือให้การสนับสนุนภาคเอกชน นักวิชาการ แล้วทำการเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจอย่างเท่าทันแก่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง
10) โน้มน้าวภาคอุตสาหกรรม (อุปกรณ์และบริการ) ให้คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมระยะยาวที่ยั่งยืนสำหรับทุกๆฝ่าย ทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ภาครัฐ และสังคม โดยไม่คำนึงเพียงในผลประโยชน์สั้นๆ เท่านั้น
คำศัพท์
ADSL : Asymmetrical digital subscriber loop
ELF : extremely low frequency หมายถึง คลื่นความถี่ต่ำกว่า 3,000 Hz
EMR : electromagnetic radiation หมายถึง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
EPA : Environment Protection Agency, USA
Electrosmog หมายถึงมลภาวะจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
Electrosensitivity หมายถึงภูมิแพ้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า
FCC : Federal Communications Commission, USA
GHz : gigahertz = 1,000,000,000 Hz
Hz : hertz หรือ cycle per second หมายถึงหน่วย : จำนวนรอบต่อวินาที
IARC : The International Agency for Research on Cancers
ICEMS : The International Commission For Electromagnetic Safety, EU
ICNIRP : The International Commission on Non-Ionizing Radiation Protection
MHz : megahertz = 1,000,000 Hz
mG : milligauss หมายถึงหน่วยวัดความเข้มสนามแม่เหล็ก (magnetic field)
mW/m2 : milliwatt per square meter หมายถึงหน่วยวัดกำลังคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า: มิลลิวัตต์ต่อตารางเมตร
micro-cells หมายถึงอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ครอบคลุมพื้นที่บริการขนาดเล็ก
nano-cells หมายถึงอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ครอบคลุมพื้นที่บริการขนาดเล็กมาก
NASA : National Aeronautics and Space Administration องค์การการบินและอวกาศแห่งชาติ
RF : radio frequency หมายถึง คลื่นวิทยุ (แม่เหล็กไฟฟ้า) ระหว่าง 3,000 Hz ถึง 300,000 MHz
V/m : volt per meter หมายถึงหน่วยวัดความเข้มสนามไฟฟ้า (electric field)
WHO : World Health Organization องค์การอนามัยโลก
WiFi : Wireless Fidelity หมายถึงเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุชนิดหนึ่ง
WiMAX : World Interoperability for Microwave Access หมายถึงเทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลด้วยคลื่นวิทยุอีกชนิดหนึ่ง